วิกฤตหนัก!! ร.ร.เอกชนปิดตัวแล้ว 13 โรง หลังขาดแคลนน.ร. แถมครูทิ้งร.ร.เอกชน - ครูไทยนิวส์

Post Top Ad

ติดต่อพื้นที่โฆษณาได้ที่ 086-4424678

วิกฤตหนัก!! ร.ร.เอกชนปิดตัวแล้ว 13 โรง หลังขาดแคลนน.ร. แถมครูทิ้งร.ร.เอกชน

Share This

วิกฤตหนัก!! ร.ร.เอกชนปิดตัวแล้ว 13 โรง หลังขาดแคลนน.ร. แถมครูทิ้งร.ร.เอกชน ไปสอบครูผู้ช่วยร.ร.รัฐ สช.ชงสำนักงบฯ อุดหนุนอาหารกลางวัน 100% รมว.ศธ.สั่งตั้งคณะทำงานศึกษาเงินอุดหนุนรายหัวน.ร.เอกชน
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยถึงกรณีที่โรงเรียนเอกชนออกมาร้องเรียนถึงปัญหานักเรียนลดลง เด็กถูกแย่งไปเรียนโรงเรียนรัฐบาล ไม่มีงบประมาณที่จะจ้างครูทำให้เลิกจ้างไปจำนวนมาก ส่งผลให้โรงเรียนเอกชนบางแห่งปิดตัว เลิกกิจการ ยุบรวมกิจการ ว่า จากปัญหาทั้งหมด ส.ปส.กช.ร่วมกับสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ร่วมจัดสัมมนาทางวิชาการ “การศึกษาเอกชนกับการปฏิรูประบบการศึกษาไทย” เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อรับฟังข้อมูลปัญหาของโรงเรียนเอกชนในแต่ละจังหวัด ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนเอกชน รวบรวมข้อเสนอแนะบางอย่างที่เป็นปัญหา จัดทำเป็นหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ช่วยพิจารณาให้การช่วยเหลือ ดังนี้ 1.สิทธิของผู้เรียนที่เป็นคนไทย ประกอบด้วย การจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการเรื่องโครงการอาหารกลางวัน และการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรในการดำเนินการเรื่องการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน 2.สิทธิของครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชนที่เป็นคนไทย และ 3.ปัญหาของการบริหารโรงเรียนเอกชน ประกอบด้วยการรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 (3 ปีบริบูรณ์) และนโยบายความจุห้องเรียนของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
นายศุภเสฏฐ์กล่าวว่า หนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ที่ทาง ส.ปส.กช.กับสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย จัดส่งไปยัง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม นพ.ธีระเกียรติ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งหนังสือฉบับนี้ส่งถึง พล.อ.อ.ประจินเรียบร้อยแล้ว และ พล.อ.อ.ประจินทำหนังสือสั่งการมาที่สำนักงานปลัด ศธ.เพื่อจัดการเรื่องที่ร้องเรียน อีกทั้งสั่งการมาที่ ส.ปส.กช.ให้รวบรวมข้อมูลนักเรียนที่ค้างค่าธรรมเนียมการเรียน ที่ปัจจุบันพบปัญหา คือ มีนักเรียนค้างค่าเทอมกว่า 90% ถือว่าค้างเยอะมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สาเหตุเพราะผู้ปกครองไม่มีกำลังจ่าย แต่ยังเชื่อมั่นในคุณภาพของโรงเรียนจึงไม่ยอมให้บุตรหลานลาออก โรงเรียนจึงรับภาระแทน ทาง ส.ปช.กช.จึงรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เสนอเข้ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่มี พล.อ.อ.ประจินเป็นประธาน เพื่อให้ช่วยเหลือนักเรียนต่อไป และด้าน นพ.ธีระเกียรติได้เร่งรัด สช.ให้ดำเนินการช่วยเหลือ 2 เรื่องด้วยกันคือ การจัดสรรงบประมาณอาหารกลางวัน และการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว กับนักเรียนเอกชนให้ได้ 100% เท่านักเรียนโรงเรียนรัฐบาล
“ความคืบหน้าการช่วยเหลืออุดหนุนเงินอาหารกลางวันนักเรียนเอกชนให้ได้ 100% ขณะนี้ สช.รวบรวมข้อมูลเสนอต่อสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางเพื่อให้พิจารณาเห็นชอบให้งบประมาณ หากเห็นชอบสามารถเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทันเดือนสิงหาคม ส่วนเรื่องเงินอุดหนุนรายหัว รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายบุคคลระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา และประเภทอาชีวศึกษา โดยมีนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นประธาน จัดทำแนวทางการอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายบุคคล ศึกษาอัตราค่าใช้จ่ายรายบุคคลที่เหมาะสม และวางแผนขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมข้อมูลเพื่อประชุมหารือกัน” นายศุภเสฏฐ์กล่าว
นายศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า ส่วนภาพรวมโรงเรียนเอกชนตอนนี้ เปิดเทอมมาได้หลายเดือนแล้ว สถานการณ์เริ่มนิ่ง ไม่มีเด็กลาออกเหมือนตอนต้นเทอมแล้ว แต่ปัญหาใหม่คือ เรื่องของครูผู้สอน ขณะนี้มีการสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ที่กำหนดสอบในเดือนสิงหาคม ทำให้โรงเรียนเอกชนบางแห่งมีครูลาออกเพื่อเตรียมสอบครูผู้ช่วยจำนวนมาก และถ้าครูเหล่านี้สอบติด ต้องลาออกเข้าไปในทางเลือกที่ดีกว่าแน่นอน โรงเรียนรับภาระคือต้องหารีบครูใหม่เข้ามาสอนแทน ถือว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างมาก
“ส่วนเรื่องโรงเรียนเอกชนปิดตัวไปตอนนี้มีจำนวนเท่าไรนั้น ผมได้รับข้อมูลยืนยันจากกองทะเบียน สช. มีประมาณ 12-13 โรงเรียน แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลยังเป็นลักษณะกระจายตัว ยังไม่ได้รวบรวมครบถ้วน คาดว่ามีมากกว่านี้ ต้องรอให้ทุกจังหวัดแจ้งข้อมูลเข้ามาให้ครบถ้วนจึงจะทราบจำนวนที่แท้จริง และแน่นอนว่าสภาพปัญหาที่โรงเรียนเผชิญอยู่มีแนวโน้มปิดตัวลงมากขึ้น” นายศุภเสฏฐ์กล่าว

ที่มา: ข่าวการศึกษาจากหนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad

ติดต่อพื้นที่โฆษณาได้ที่ 086-4424678